1. พื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา
ปรัชญาการศึกษา หมายถึงอุดมคติ อุดมการณ์อันสูงสุดซึ่งยึดเป็นหลักในการจัดการศึกษา มีบทบาทในการเป็นแม่บทเป็นต้นกำเนิดความคิดในการกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษา และเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดทิศทางในการจัดการศึกษา ช่วยกำหนดหลักการและ จุดมุ่งหมายของหลักสูตร รวมทั้งสิ่งอื่นที่จะตามมาคือ การเลือกเนื้อหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการประเมินผลเป็นต้น ปรัชญาการศึกษาต่าง ๆ มีดังนี้
ปรัชญาสารัตถนิยมหรือสาระนิยม (essentialism) ถือว่าบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การจัดการศึกษาตามแนวคิดนี้จึงมีลักษณะเป็นการถ่ายทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมของสังคมเพราะเห็นว่า สิ่งที่นำมาสอนนั้น ดีงาม ถูกต้อง และกลั่นกรองมาดีแล้ว เนื้อหาวิชาที่นำมาสอนจะเป็นการเตรียมผู้เรียนให้มีชีวิตที่ดี เช่น การอ่าน การเขียน เลขคณิต ประวัติศาสตร์วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา เป็นต้น การจัดการเรียนรู้ยึดครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เน้นการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียน รับรู้และจำ คำนึงถึง เนื้อหาสาระมากกว่าความแตกต่างระหว่างบุคคล วิธีสอนที่ใช้มากคือการบรรยายหรือการพูดของครู ผู้เรียนต้องอยู่ในระเบียบวินัยจนสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ การประเมินผลเน้นด้านความรู้
ปรัชญานิรันตรนิยม (parennialism) ปรัชญานี้มีความเชื่อว่า การจัดการศึกษาควรให้เรียนในสิ่งที่ดีงาม มั่นคง มีเสถียรภาพ เนื้อหาวิชาที่เรียนจะเป็นวิชาที่พัฒนาเชาวน์ปัญญาและจิตใจ เช่น วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี ไวทยากรณ์ศิลปะการพูด คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และดนตรี วิธีสอนใช้การฝึกฝนทางปัญญา เช่น การอ่าน การเขียน การฝึกทักษะ การท่องจำ การคำนวณ และการถามตอบ
ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือปรัชญาพิพัฒนนิยม หรือปรัชญาวิวัฒนาการนิยม (progressivism) ปรัชญาการศึกษานี้ถือว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือของสังคมในการถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง การจัดการศึกษาตามแนวนี้จะมุ่งส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกด้าน เน้นการปฏิบัติจริง และความสัมพันธ์กับสภาพจริง การจัดการเรียนรู้ยึด ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง วิธีการใช้มากคือ การทำโครงการ การอภิปรายกลุ่ม และการแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล
ปรัชญาอัตนิยม หรือปรัชญาอัตถิภาวนิยม หรือปรัชญาสวภาพนิยม (existentialism) ปรัชญานี้ มีความเชื่อว่า ทุกคนสามารถกำหนดชีวิตของตนเองจึงเน้นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคม เผชิญกับปัญหาต่าง ๆ การจัดการศึกษาจึงให้ ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ การตัดสินใจ สอนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพในการเรียน และเลือกเรียนมีความรับผิดชอบในตนเอง ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทาง การจัดการเรียนรู้เน้นพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละคน วิชาที่เรียนเป็นวิชาที่พัฒนาความสามารถของบุคคลเฉพาะ ลงไป เช่น ศิลปะ ปรัชญา วรรณคดี การเขียน การละคร เป็นต้น
ปรัชญาปฏิรูปนิยม (reconstructionism) ปรัชญานี้มีความเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแลงสังคมโดยตรง เน้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างสังคมให้ดี รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคม ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นผู้เรียนต้องหาประสบการณ์ด้วยตนเองให้มาก การจัดหลักสูตรยึดอนาคตเป็นศูนย์กลาง มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถและทัศนคติที่จะออกไปปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น เนื้อหาวิชาเน้นหนักในหมวดสังคมศึกษา ด้านพฤติกรรมศาสตร์ อิทธิพลของชุมชน ใช้วิธีสอนแบบให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เน้นการอภิปราย การแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาของสังคม พร้อมให้ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสังคมด้วย ตารางสอนจัดแบบยืดหยุ่น (flexible schedule) การประเมินผลวัดพัฒนาการทุกด้านของผู้เรียนและทัศนคติเกี่ยวกับสังคม
2. พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา
ในการจัดทำหลักสูตรนั้น นักพัฒนาหลักสูตรต้องคำนึงอยู่เสมอว่าต้องพยายามจัดหลักสูตรให้สนองความต้องการและความสนใจของผู้เรียนอย่างแท้จริง ด้วยการศึกษาข้อมูล พื้นฐานเกี่ยวกบตัวผู้เรียนว่าผู้เรียนเป็นใคร มีความต้องการและความสนใจอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิทยาทั้งสิ้น โดยเฉพาะ จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) และจิตวิทยาการเรียนรู้ (psychology of learning) ซึ่งจิตวิทยาทั้ง 2 สาขานี้จะเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรโดยตรง นอกจากนี้ นักพัฒนาหลักสูตรยังให้ความสำคัญกับจิตวิทยาทั่วไป (generalpsychology) ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน จิตวิทยาพัฒนาการกับการพัฒนาหลักสูตร ทำให้ทราบถึงความสามารถ ความสนใจ ความต้องการ เจตคติ และศักยภาพด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันของผู้เรียนแต่ละคนองค์ประกอบของพัฒนาการของมนุษย์ มี 2 ประการคือ
1. วุฒิภาวะ (maturity) หมายถึง กระบวนของความเจริญเติบโตสูงสุดของอินทรีย์ในร่างกายที่ทำให้เกิดความพร้อมที่จะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้นโดยไม่ต้องอาศัยการฝึกฝนหรือเรียนรู้ใด ๆ หรือเป็นไปโดยธรรมชาติ
2. การเรียนรู้ (learning) เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลมาจาก ประสบการณ์ การเรียนรู้อาจเกิดขึ้นด้วยการจูงใจ หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจก็ได้
พัฒนาการและการเจริญเติบโตของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย (physical development) เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างทั้งขนาดรูปร่าง และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
2. พัฒนาการทางด้านสติปัญญา (mental development) เป็นความเจริญงอกงามที่บ่งบอกถึงการเพิ่มพูนความสามารถในการประกอบกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และรวบรวมความรู้ความเข้าใจไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นพัฒนาการทางด้านความคิด ความจำ และความเข้าใจ
3. พัฒนาการทางด้านอารมณ์ (emotion development) เป็นพัฒนาการทางด้านความรู้สึกและทัศนคติของบุคคล
4. พัฒนาการทางด้านสังคม (social development) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของบุคลตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เป็นความสามารถของบุคคลในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคม และวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ตลอดถึงการพัฒนาทางด้านบุคลิกภาพ และพัฒนาการทางด้านศีลธรรมด้วย
3. พื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของการศึกษา คือการอนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดีงามและสังคมไปสู่คนรุ่นหลังและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางสังคมให้สอดคล้อง ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยากรด้านต่าง ๆ รวมทั้ง สนองความต้องการและช่วยแก้ปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ ดังนั้นการศึกษา จึงเป็นเครื่องมือในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่พึ่งปรารถนา การพัฒนาหลักสูตรจึงต้องให้มีความสอดคล้องกับสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนได้อยู่เสมอ จึงจะสามารถแก้ปัญหาและสนองความต้องการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นในการพัฒนาหลักสูตรจะต้องพิจารณาว่าใช้หลักฐานกับคนในสังคมใดก็ต้องคำนึงถึงลักษณะของคนในสังคมนั้นว่าจะให้มีลักษณะแบบใด ลักษณะใดที่ต้องการให้เกิดขึ้นและลักษณะใดไม่พึงประสงค์ แล้วกำหนดใช้ในหลักสูตรและแนวดำเนินการของหลักสูตร
การศึกษาจึงทำหน้าที่ทำนุบำรุงรักษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมเก่าที่ดีงาม คัดสรรค์วัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาว่าวัฒนธรรมใดควรรับไว้ วัฒนธรรมใดควรปรับปรุงแก้ไข่ให้เหมาะสมกับสภาพของสังคม วัฒนธรรมใดควรสกัดกั้น โดยการบรรจุวัฒนธรรมที่สังคมต้องการถ่ายทอดและสงวนรักษาไว้ในหลักสูตร สกัดกั้นวัฒนธรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่จะเข้ามาทำลายความเป็นเอกลักษณ์ของชาติของสังคม
ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจึงต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมประจำชาติ ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม การยอมรับและปรับปรุงวัฒนธรรมในสังคมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปในทางที่เหมาะสมกับสังคม นอกจากนี้ในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรจะต้องฝึกให้ผู้เรียนมีวิจารณญาณในการพิจารณาวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่และที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาในสังคมว่าดีหรือไม่ดีอย่างไรควรตัดสินใจรับไว้หรือไม่ รวมทั้งการสร้างภูมิต้านทานต่อวัฒนธรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น